You are here
ข่าวประชาสัมพันธ์
มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ทุ่งใหญ่ เตรียมพร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยก่อนส่งตัวกลับบ้าน
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ผศ.สมคิด ชัยเพชร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยอาจารย์สมยศ ศรีเพิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตนครศรีธรรมราช ร่วมต้อนรับ นายตระกูล หนูนิล นายอำเภอทุ่งใหญ่ และคณะทำงานทุกท่าน ในการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมเพื่อเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) ซึ่งจากการลงพื้นที่จะใช้อาคารกิจกรรมนักศึกษา หรือโรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ทุ่งใหญ่ ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม(Field Hospital) อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเป็นการรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการ ไม่พบเชื้อหรือรักษาหายแล้ว มาพักฟื้นเพื่อกักตัวก่อนส่งกลับที่อยู่อาศัยอย่างมั่นใจว่าผู้ป่วยหายแล้ว 100%
หลังจากการสำรวจความพร้อมของสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม นายอำเภอทุ่งใหญ่เดินทางต่อไปที่หอพักนักศึกษาชาย 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ทุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่กักตัวสำหรับบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ของตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยนายอำเภอทุ่งใหญ่และคณะทำงานได้ทำการตรวจสอบความเรียบร้อยของสถานที่กักตัวเพื่อรองรับบุคคลที่เดินทางเข้ามาในตำบลทุ่งใหญ่ให้ปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
สถาบันวิจัยพัฒนา มทร.ศรีวิชัย ขับเคลื่อน “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP
หน่วยจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และคณะทำงาน ภายใต้ชุดโครงการ “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของภาคใต้บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นสู่ตลาดการแข่งขัน” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในโปรแกรมที่ ๑๓ นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุน ภายใต้โครงการ การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของภาคใต้บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นสู่ตลาดการแข่งขัน
ผศ.ประภาศรี ศรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และรศ.ดร. ชุตินุช สุจริต รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ศรีวิชัย ได้จัดกิจกรรมส่งมอบผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาทะเลโดยชุมชนสัญจร เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์จากการหนุนเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของภาคใต้บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นสู่ตลาดการแข่งขันแก่หน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ และ OTOP trader .ในพื้นที่จังหวัดตรัง ได้ร่วมหารือแนวทางขับเคลื่อนผลงานวิจัยในด้านต่างๆเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ภายใต้ วิสัยทัศน์ (Vision) มหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาคอย่างมั่นคง โดยมี นายสริห์ หอมหวน พัฒนาการจังหวัดตรัง, นายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัด, นางสาววาสนา วิโนทัย ผอ. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ,นางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดตรัง และ OTOP TRADER ทั้งนี้ทุกหน่วยงานมีความยินดีให้คำแนะนำพร้อมสนับสนุนเพื่อให้มีการต่อยอดและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
อว. หนุน ฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้แก่บุคลากร มทรศรีวิชัย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ อว. มีนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่ง มทร.ศรีวิชัย ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลได้รับการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca ให้กับบุคลากร และนักศึกษา จำนวน 720 โดส ซึ่งมทร.ศรีวิชัยได้เข้ารับการฉีดวัคซีน ณ โรงยิม เนเซี่ยม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มทร. ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช เข้ารับการฉีดวัคซีน ณ ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เข้ารับการฉีดวัคซีน ณ โรงพยาบาลตรัง และ สถานีวิจัยและฝึกอบรมชุมพร เข้ารับการฉีดวัคซีน โรงพยาบาลชุมพร
ทั้งนี้การที่ บุคลากร และนักศึกษา มทร.ศรีวิชัย เข้ารับวัคซีน เป็นการช่วยควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับบุคลากรและ นักศึกษา ที่สำคัญมหาวิทยาลัยจะได้กลับมาจัดการเรียน การสอนแบบ on site ได้อย่างเร็วที่สุด การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคหากมีการติดเชื้อขึ้น มทร.ศรีวิชัย ขอเชิญชวนมาร่วมกันฉีดวัคซีนกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ลดการสูญเสีย และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ได้โดยเร็วที่สุด
อว.สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ระดับองค์กร มอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ให้กับสถาบันอุดมศึกษา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดสรรโควต้าวัคซีน AstraZeneca ให้หน่วยงานอุดมศึกษาสำหรับฉีดให้กับบุคลากรและนิสิต โดยทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19 (COVID-19) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ระดับองค์กร เป็นการควบคุมและป้องกันการระบาด รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับบุคลากรของสถาบันการศึกษา
ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2564 คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร มทร.ศรีวิชัย สงขลา และวิทยาลัยรัตภูมิ ได้รับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด Covid-19 ) AstraZeneca รอบที่ 1 เข็มที่ 1 จาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
มทร.ศรีวิชัย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนเกาะสุกร ผลิตภัณฑ์ปูม้าแปรรูป ส่งเสริมรายได้ สร้างอาชีพ ฝ่าวิกฤต COVID 19
จากการทำงานด้านการส่งเสริมให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ปูม้า วันนี้ชาวประมงในชุมชนเกาะสุกร ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่เอื้อต่อการส่งเสริมรายได้ด้านการประมง ซึ่งเป็นรายได้หลักของชุมชนเกาะสุกร โครงธนาคารปูม้า มทร.ศรีวิชัย เลขที่ 179 หมู่ 3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้บริการวิชาการในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดย สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จัดการฝึกอบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปูม้าเป็นสินค้าใหม่ “นักเก็ตปูม้า & ข้าวเกรียบปูม้า” เป็น(โครงการระยะที่ 3) เพื่อการต่อยอดการทำธนาคารปูม้าตามแนวทาง BCG Economy Model โดยการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ปูม้า ทำให้มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ สร้างอาชีพเสริมให้กับ ชุมชนเกาะสุกรได้เป็นอย่างดี โดยก่อนหน้านี้ (4-5 ก.ย.2563) ได้จัดฝึกอบรมผลิภัณฑ์แปรรูปมาจากปูม้า “ฮ่อยจ๊อปูม้า และลูกชิ้นปูม้า”(โครงการระยะที่ 2) และได้มีการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด สร้างรายได้อย่างงดงามและธนาคารปูม้าหาดทรายทอง 2 โดย นางเยาวลักษณ์ ไชยมล ได้รับเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากปูม้า (ฮ่อยจ๊อปูม้า) ระดับคุณภาพชั้น 2 สินค้าคุณภาพมาตรฐานดีตะเพียนเงิน และได้รับการจำหน่ายสินค้าประมงเพื่อการบริโภคผ่านเว็บไซด์ Fisheries shop ของกรมประมง
ต่อเนื่องจากโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 28 -29 มิถุนายน 2564 คณะทำงานธนาคารปูม้า นำโดย อาจารย์ ดร วิกิจ ผินรับ หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร. นัฎฐา คเชนภักดี และ อาจารย์ ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และคณะทำงาน พร้อมด้วยนางราตรี จิตรหลัง นายก อบต. เกาะสุกร ได้เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ภายใต้การจัดฝึกอบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงจากปูม้า “นักเก็ตปูม้าและข้าวเกรียบปูม้า” ให้กับชุมชนเกาะสุกร ณ อาคารเอนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ภายใต้การดำเนินกิจกรรมได้มีการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพจากชุมชน มีความสดสะอาด ผ่านขั้นตอนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงคุณภาพการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้นาน โดยผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้ามีคุณภาพดี และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID 19 ที่ส่งผลให้ ผู้สนใจไม่สามมารถเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดตรังได้ แต่สามารถสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิที่มีคุณภาพ โดยถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมั่นใจ ด้าน อาจารย์ ดร วิกิจ ผินรับ หัวหน้าโครงการ ได้กล่าวชื่นชมผู้เข้าร่วมโครงการ ว่ามีความพร้อมและความตั้งใจเต็มเปี่ยมในการมีส่วนร่วม และพร้อมที่ขับเคลื่อนการทำธนาคารปูม้าแบบยั่งยืน บริการวิชาการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างเสริมอาชีพ สร้างรายได้ สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ “นักเก็ตปูม้าและข้าวเกรียบปูม้า” จะเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับให้กับชุมชนเกาะสุกรได้ไม่แพ้กันสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารประมง อาทิ ฮ่อยจ๊อปูม้า,ลูกชิ้นปูม้า,นักเก็ตปูม้า และข้าวเกรียบปูม้า ได้ที่ โทร:0867454588 ,0909963655 คุณเยาวลักษณ์ ไชยมล facebook: จ๊อโคตรปู เกาะสุกร โทร: 0865483969 คุณโบ , 0891490279 คุณดา Facebook : Siriwan Bo Armornsiripanya Facebook: Da Inthongmak โทร: 0831686630 คุณแหม่ม Facebook : ครัวรจนา
มทร.ศรีวิชัย ตรัง ส่งต่อความรู้ สู่ชุมชน การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากเสม็ดขาว และออกแบบบรรจุภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้เผยแพร่ ความรู้ “การสกัดน้ำมันหอมระเหยเสม็ดขาว และการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์” ผ่านกระบวนการผลิต “เจล หอมที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากใบเสม็ดขาว” โดยเจลหอมที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อลดกลิ่นอับในสถานที่ต่างๆ และนอกจากนั้นยังได้มีการสาทิตการทำ ”ธูปหอมสมุนไพรในไล่ยุงกลิ่นเสม็ดขาว” มีคุณสมบัติไล่ยุงและเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำไปผลิตเพื่อวางจำหน่าย อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชพื้นถิ่นเช่นใบเสม็ดได้เป็นอย่างดี โดย อาจารย์ ดร. ขวัญตา ตันติกำธร เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ และ นายรุ่งโรจน์ นวนศรี นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง เป็นผู้ช่วยวิทยากรซึ่งมีผลงานนวัตกรรมนักศึกษาจากการผลิตเจลหอมกลิ่นเสม็ดขาว โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรังเป็นเจ้าภาพในการจัดการ
เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดน้ำมันหอมระเหยเสม็ดขาว เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาจารย์ ดร. นัฎฐา คเชนภักดี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรังได้บรรยายให้ความรู้และแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งควรคำนึงถึงความสะอาดและคุณภาพของสินค้าที่เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิต และขั้นตอนการบรรจุภัณฑ์สินค้า โดยนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆได้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของพืชพื้นถิ่นอันจะนำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป
มทร.ศรีวิชัย ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในการสร้างรายได้ ต่อยอดผลผลิต
เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ผศ.อภิญญา วณิชพันธุ์ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มทร.ศรีวิชัย ได้รับเชิญจากสำนักงานเกษตรอำเภอทุ่งสง เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ "การพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน Primary GMP ในโครงการยกระดับศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในการผลิตสินค้าชุมชน : กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน กิจกรรมย่อย: ส่งเสริมและพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน" โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีคุณนิกร ชิดเชื้อ เกษตรอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนได้มีการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินกิจการสามารถสร้างรายได้จากการประกอบกิจการเพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรผู้ผลิตน้ำผึ้งชันโรง และเครื่องแกงชาววัง จำนวน 20 คน จัดขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผึ้งร่มไทร ตำบลควนกรด อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางประธานกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงธรรมชาติบ้านไทรห้อง คุณสมใจ รัตนบุรี และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องชาววัง คุณจีระยุทธ ไข่นุ่น กล่าวว่า ทางกลุ่มได้รับความรู้ในเรื่องการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการขอมาตรฐาน อย. ทั้งด้านการจัดเตรียมอาคารสถานที่ การคัดแยกโซนการผลิต การวางแปลนโรงเรือนสำหรับการผลิต อุปกรณ์เครื่องมือที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับกระบวนการผลิตที่ได้รับมาตรฐาน อย. เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของทางชุมชนมีคุณภาพและขยายตลาดภายในประเทศและต่างประเทศได้ ในโอกาสนี้ทางตัวแทนชุมชนได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับเป็นแนวทางในการจัดประเด็นการอบรมในครั้งต่อไป ทางชุมชนมีความต้องการวิทยากรด้านกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้ง นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์สบู่ โลชั่น ยาหม่องที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้ง แนวทางการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เครื่องแกง รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค เพื่อทางชุมชนทั้ง 2 ชุมชน ซึ่งจพนำความรู้ที่ผศ.อภิญญา วณิชพันธุ์ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มทร.ศรีวิชัย มอบให้ จะนำไปพัฒนาต่อยอดการสร้างผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานต่อไป
วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ ถ่ายทอดความรู้สู่วิสาหกิจชุมชน
วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ ถ่ายทอดความรู้สู่วิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ผลักดันให้เป็นศูนย์วิจัย ทดสอบ เครื่องยนต์ดีเซลยูโร 5 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ณ โรงฝึกปฏิบัติการพื้นฐานวิศวกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ ผศ.ดร.ขวัญหทัย ใจเปี่ยม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ขนอม เป็นประธานเปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว" โดยมี อ. ดร.สุพร ฤทธิภักดี หัวหน้าสาขาวิศวกรรม เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้นำชุมชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่อำเภอขนอม จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ด้วยพื้นที่อำเภอขนอมประชาชนส่วนใหญ่มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ทำสวน เช่น สวนมะพร้าว สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทำนา ซึ่งมีผลิตผลและรายได้ ไม่แน่นอน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณค่าปาล์มน้ำมัน ก่อเกิดพลังงานทางเลือก นำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มเเข็ง ยั่งยืน และผลักดันให้เป็นศูนย์วิจัย ทดสอบ เครื่องยนต์ดีเซลยูโร 5 ส่งเสริมการท่องเที่ยวของพื้นที่ และเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธาน รัชกาลที่ 9 ทางวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น ในรูปแบบ New Normal
อธิการบดี มทร.ศรีวิชัย พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าพบ นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิธ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้เข้าพบ นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิธ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เพื่อร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจในการเข้ามาบริหารงาน ซึ่งได้มีการมอบของที่ระลึก จากผลงานนวัตกรรมการวิจัยของมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากเสม็ดขาว ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2563 และชุดอุปกรณ์เครื่องวัดอุณหภูมิแบบแสกนใบหน้า พัฒนาระบบตรวจสอบความเคลื่อนไหวบุคคลด้วยเซนเซอร์ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน ซึ่งได้มีการนำมาติดตั้งบริเวณทางเข้าสำนักงานองการบริหารส่วนจังหวัดตรัง
นอกจากนั้นได้มีการหารือด้านความพร้อมในการสนับสนุนการทำงาน ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยได้มีการนำเสนอผลการทำงาน และพื้นที่เป้าหมายเพื่อทำงานร่วมกันในอนาคต และนอกจากนั้น อธิการบดียังได้ให้กำลังใจ การทำงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสCOVID-19 และบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านการเกษตร ท่องเที่ยว เศรษฐกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และการสร้างอาชีพทางเลือก เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจให้กับชาวจังหวัดตรังได้กลับมาเข้าแข็งอีกครั้ง โดยมหาวิทยาลัยมีความยินดีให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นไปตาม วิสัยทัศน์ (Vision)และพันธกิจ (Mission) ตามบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
นศ.มทร.ศรีวิชัย สร้างเครื่องขึ้นรูปภาชนะบรรจุอาหาร ภาชนะบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติปลอดสารพิษ
นางสาวจริญญา มีมุสิทธิ์ นางสาวศิริวรรณ ชูช่วย นายนายจิระพงศ์ แก้วเจริญ และ นายเกษมสิทธิ์ ตั้งจรัสสุวรรณ นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมการผลิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สร้างเครื่องอัดขึ้นรูปภาชนะบรรจุอาหารขนาดเล็กจากใบไผ่ โดยมี ผศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา หลักการทำงานของเครื่องขึ้นรูปภาชนะบรรจุอาหาร สามารถขึ้นรูปภาชนะบรรจุอาหารขนาดเล็ก โดยใช้จากวัสดุธรรมชาติ ในการออกแบบกลไกการทำงานของเครื่อง หลักการทำงานจะใช้แม่พิมพ์อลูมิเนียมในการอัดใบไม้ใบหูกวางและใบสักให้มีลักษณะเป็นรูปจานและถ้วยโดยใช้ฮีตเตอร์แผ่นให้ความร้อนโดยตรงกับแม่พิมพ์และสามารถปรับระดับอุณหภูมิของแม่พิมพ์ได้เป็นอย่างดี และใช้แรงกดจากแม่แรงเมื่อฮีตเตอร์ให้ความร้อนกับแม่พิมพ์จนถึงอุณหภูมิที่ได้ตั้งเกณฑ์ไว้จากนั้นทำการกดแม่พิมพ์เพื่อทำการขึ้นรูปถ้วยและจานให้มีลักษณะตามต้องการ ข้อดีของเครื่องรุ่นนี้ สามารถอัดขึ้นรูปครั้งเดียวได้ภาชนะสองรูปแบบ คือ ภาชนะแบบกลม และภาชนะแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า และยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของแม่พิมพ์ได้ โดยการตัดแต่งใบไม้ให้ได้ขนาดของแม่พิมพ์ ตามความต้องการ กำลังการผลิตเครื่องขึ้นรูปภาชนะจากใบไม้จะเท่ากับ 11 ชิ้นต่อชั่วโมง 77 ชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 80 ชิ้นต่อวัน เครื่องขึ้นรูปภาชนะบรรจุอาหารภาชนะบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติปลอดสารพิษ เป็นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหลาดป่าเรียน ชุมชนพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายใต้โครงการ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหลาดป่าเรียน ชุมชนพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โครงการยุวชนอาสา (Proposal) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สนับสนุนงบประมาณโดยกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เครื่องดังกล่าวได้ดำเนินการนำไปใช้งานจริง และถือว่าภาชนะที่ได้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะนำไปมอบให้กับชุมชนพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้นำไปใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีภาชนะบรรจุอาหารจากใบไผ่ ใบสัก ใบหูกวาง หรือใบไม้อีกหลากหลายชนิด ไปใช้ในตลาด (หลาดป่าเรียน) นับว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และยังสามารถลดรายจ่ายในการซื้อภาชนะต่างๆ ให้กับชุมชน สร้างรายได้ สร้างความแปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว และยังสามารถนำไปต่อยอดในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนได้อีกด้วย
กิจกรรม CSR ปล่อยลูกปูม้า ภายใต้โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย”
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ดร.วิกิจ ผินรับ หัวหน้าโครงการวิจัยการบริหารจัดการธนาคารปูม้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ พร้อมด้วย ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์ ผู้ร่วมโครงการวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมด้วยศูนย์เรียนรู้ปูม้าตรัง ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านปากคลอง และเครือข่ายธนาคารปูม้าชุมชนอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ร่วมกิจกรรม CSR ปล่อยลูกปูม้าเพื่อสร้างความร่วมมือในชุมชนระดับอำเภอ ภายใต้โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ณ ศูนย์เรียนรู้ปูม้าตรัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง 179 หมู่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) This research and innovation activity is funded by National Research Council of Thailand (NRCT) ซึ่งในกิจกรรมได้มีการปล่อย พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปูม้า รวมถึงลูกปูม้าระยะโซเอี้ย (Zoea) จำนวน 10,000,000 ตัว คิดเป็นอัตรารอดตาย 10,000 ตัว คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 200,000 บาท เพื่อส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้า และประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของโครงการขยายผลธนาคารปูม้า โดยการนำแม่ปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาทำการเพาะฟักเป็นตัวอ่อนแล้วทำการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยได้มีการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ปูม้าภายใต้ มาตรการ 5 ม. 1.ไม่จับ 2.ไม่ซื้อ 3.ไม่กิน 4.ไม่ขาย(ปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง และปูม้าขนาดเล็ก 5.ไม่ใช้(เครื่องมือที่ผิดกฎหมายลอบปูและอวนปู ขนาดตาอวนไม่น้อยกว่า 2.5นิ้ว) สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ รับรู้ ตระหนัก อนุรักษ์ปูม้า สร้างมูลค่า และสร้างความยั่งยืน
ผอ.โรงพยาบาลสิเกา นำทีมพยาบาล ตรวจสอบความเรียบร้อย โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 6 มทร.ศรีวิชัย ตรัง
วันนี้ 15 มิถุนายน 2564 เมื่อเวลา 10.30 น.นายแพทย์วัชรนันท์ ถิ่นนัยธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิเกา นำทีมคณะทำงานและเจ้าหน้าที่พยาบาล จากโรงพยาบาลสิเกา ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เร่งตรวจสอบการเตรียม พื้นที่โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 6 ของจังหวัดตรัง ณ อาคารห้องประชุมปัญญานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรี วิชัย วิทยาเขตตรัง โดยมี นางอุษา ศรีเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตตรัง พร้อมด้วย หัวหน้าหน่วยอาคารสถานที่ ร่วมพูดคุยแนะนำสถานที่ หลังจากที่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้เพื่อรองรับผู้ป่วยCOVID- 19 โดยมีจำนวนเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย จำนวน 183 เตียง และระบบการติดตั้งกล้องวงจรปิด ห้องปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่หมอและพยาบาล รวมถึงส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรการป้องกันCOVID-19 เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานได้รับผลกระจากการดำเนินการ ดังกล่าว
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ส่งมอบ โครงการวิจัยย่อยภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เมืองฯ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ส่งมอบ โครงการวิจัยย่อยภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เมืองและโครงสร้างพื้นฐานรองรับยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครสงขลา วันนี้(15 มิ.ย.64) ผศ.ดร.ณัฐณีภรณ์ น้อยเสงี่ยม คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชลัท ทิพากรเกียรติ (หัวหน้าโครงการย่อยที่ 3) และผศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน ผู้อำนวยการสำนักการจัดการนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย ร่วมส่งมอบโครงการวิจัยย่อยที่ 1 การพัฒนาพื้นที่กิจกรรมสาธารณะเมืองเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับเมืองอัจฉริยะสงขลา ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เมืองและโครงสร้างพื้นฐานรองรับยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครสงขลา โดยมีนายศรัญ บิลพัฒน์ นายกเทศมนตรีนครสงขลา เป็นผู้รับมอบโครงการฯ และ รศ.จรูญ เจริญเนตรกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ผู้อำนวยการแผนวิจัย) เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่กิจกรรมสาธารณะเมืองเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับเมืองอัจฉริยะสงขลา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เป็นเมืองที่มีการใช้เทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชน ภายใต้เมืองอัจฉริยะและเมืองน่าอยู่เทศบาลนครสงขลา
มทร.ศรีวิชัย เสริมสร้างอาชีพการเกษตรสร้างรายได้ ส่งมอบ ตู้เพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ 8 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา
สำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ภายใต้โครงการเสริมสร้างอาชีพการเกษตรสร้างรายได้เกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน ภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กิจกรรมส่งเสริม การเพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ ด้วย “ตู้เพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วงพงค์ บุญช่วยแทน ผู้อำนวยการสำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี มากอ้น วิทยาลัยรัตภูมิ ดร.สาลินี ทิพย์เพ็ง คณะศิลปศาสตร์ อาจารย์รัสมนต์ ยุระพันธุ์ คณะบริหาร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันประชา นวนสร้อย วิทยาลัยรัตภูมิ ร่วมกันนำเทคโนโลยีด้านสมาร์ทฟาร์มเข้ามาช่วยส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมีนางศิริมา บางัสสาเร๊ะ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต นางสาวโสมฤทัย อินทมะโน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ร่วมด้วย
ตู้เพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ เป็นโรงเรือนมีขนาด100*60*150 เมตร ทำด้วยเหล็กคาวาไนขอบอลูมิเนียม มีพลาสติกันกัน UV คลุมตู้ ภายในตู้มีทั้งหมด 3 ชั้นมีตะแกรงสำหรับวางก้อนเห็ดของแต่ละชั้น มีเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นมีพัดลมระบายอากาศ มีฟ๊อกซี่จำนวน 2 หัวต่อชั้นสำหรับรดน้ำและใช้ในการควบคุมความชื้นภายในตู้ สำหรับการควบคุมการทำงานของตู้ มีชุดควบคุมสามารถตั้งค่าได้ 4 ค่า ดังต่อไปนี้ อุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิสูงกว่าที่กำหนด พัดลมระบายอากาศทำงาน ความชื้นภายในตู้ เวลาในการตรวจสอบเงื่อนไขของความชื้นเพื่อสั่งให้ฟ๊อกซี่ทำงาน และตั้งเวลาในการทำงานของฟ๊อกซี่ ตู้เพาะเห็ดช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง20% และเพิ่มผลผลิตได้ถึง 30%
ปัจจุบัน ได้ดำเนินการส่งมอบและถ่ายทอดนวัตกรรมตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติจำนวน 8 อำเภอ ดังนี้ 1.กลุ่มส่งเสริมอาชีพเพาะเห็ด หมู่ที่ 2 ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง 2. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หมู่ที่ 6 ตำบลคลองหรัง อำเภอนาหม่อม 3. วิสาหกิจชุมชน STP แปรรูปเห็ดบ้านท่าหรั่ง หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง 4. ศพก.ตำบลท่าช้าง หมู่ที่ 10 ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ 5. กลุ่มส่งเสริมอาชีพทำเกษตรแบบผสมผสานบ้านนาสีทอง หมู่ที่ 1 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ 6. กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติ ตำบลเขามีเกียรติ อำเภอสะเดา 7. กลุ่มปลูกผักตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ และ 8. กลุ่มเพาะเห็ด หมู่ที่ 8 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอสงขลา
โดยการส่งมอบและการถ่ายทอดนวัตกรรมตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติในครั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 20% ลดรายจ่าย มีผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ได้ราคาดี เป็นอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี
มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ร่วมกับ อบจ.ตรัง ปล่อยลูกปูม้า 30 ล้านตัว
โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ "คืนปูม้าสู่ทะเลไทย" เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง "การจัดการและส่งเสริมธนาคารปูม้าแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนในจังหวัดตรังและกระบี่ ระยะที่ 2 ซึ่งโครงการดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อดำเนินโครงการวิจัย โดยใช้หน่วยงานบูรณาการและความร่วมมือ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน
นายก อบจ.ตรัง พร้อมคณะ และชาวบ้านตำบลสุโสะ ร่วมใจปล่อยลูกปูม้า 30 ล้านตัวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศน์คลองสุโสะ ที่คลองสุโสะ หมู่ที่ 1 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เป็นประธานปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปูม้าจำนวน 30 ล้านตัว ตามโครงการขยายผลธนาคารปูม้า “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” โดยมี นายจารึก ทองหนัน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง นายละมุน สงบดี เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง นายสมคิด รองเดช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน นายประสิทธิ์ โสะหาบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลสุโสะ และชาวบ้าน ตำบลสุโสะ เข้าร่วมกิจกรรม ณ ท่าเทียบเรือควนโต๊ะสัน หมู่ที่ 1 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง กิจกรรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศน์นคลองสุโสะ โดยได้รับลูก ปูม้าจากชาวประมงพื้นบ้านที่นำมาบริจาคให้กับธนาคารปูม้าตำบลสุโสะ เพื่อฟักลูกปูนำปล่อยสู่ธรรมชาติ ส่วนอุปกรณ์ในการดูแลพ่อแม่พันธุ์ปูได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง
สำหรับโครงการปล่อยสัตว์น้ำในคลองสุโสะดำเนินการเป็นประจำทั้งปลา กุ้ง ปู "คลองสุโสะ" ถือเป็นหม้อข้าวของคนในอำเภอปะเหลียนทั้งหมด ชาวบ้านในพื้นที่ต่างช่วยกันดูแลรักษาป่าโกงกาง และระบบนิเวศน์ เพื่อความสมบูรณ์ของท้องทะเลให้ชาวบ้านทำมาหากินได้จนถึงรุ่นลูกหลาน ทั้งนี้ ชาวบ้านได้พัฒนาชุมชนคลองสุโสะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์และการอาชีพ ในนามวิสาหกิจชุมชนล่องแพ คลองหวายดน มีบริการล่องแพ ชมระบบนิเวศป่าชายเลนคลองสุโสะ-หวายดน วิถีชีวิตชาวประมง จิบชาขลู่ ดูนก ตกปลา ดำหาสาหร่ายพวงองุ่นที่มีในลำคลองตามธรรมชาติ และรับประทานอาหารพื้นบ้านบนแพจากวัตถุดิบธรรมชาติในลำคลองสุโสะ เช่น เมนูยำหอยสันขวาน ยำสาหร่ายพวงองุ่น
มทร.ศรีวิชัย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันที่ 9 มิ.ย. 2564 ดร.ภาณุมาศ สุยบางดำ ผู้อำนวยการวิทยาลัยรัตภูมิ ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOA) ระหว่าง คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ วิทยาลัยรัตภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลชาติ โชติการ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ปฏิบัติการแทนคณบดีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกัน ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาเพื่อการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการ เช่น โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเครื่องจักรกลเกษตรและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรครบวงจร หรือโครงการอื่น ๆ พิธีลงนาม MOA ครั้งนี้ได้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค COVID-19
มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์รับมือสถานการณ์ COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลสงขลา
มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์รับมือสถานการณ์ COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลสงขลา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสงขลา เพื่อรับมือสถานการณ์ COVID-19 รองศาตราจารย์จรูญ เจริญเนตรกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย รองศาตราจารย์ ดร.จารุวัฒน์ เจริญจิต รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ ตู้อบฆ่าเชื้อ สำหรับชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE อุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 1 เครื่อง จากโครงการการพัฒนานวัตกรรมสิ่งสนับสนุนชุมชนและสังคมต่อสู้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 1 เครื่อง และหัตถการทางเดินหายใจสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 10 ชิ้น โดยมี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์อาวุโส นายศราวินทร์ สาครินทร์ และ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คุณพัฒนี แก้วนาวีเป็นผู้รับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์
ทั้งนี้การส่งมอบอุปกรณ์ทางแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลสงขลา จ.สงขลา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษา คัดกรองผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE หน้ากากอนามัยได้นำกลับมาใช้ใหม่ และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย
มทร.ศรีวิชัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน นำนวัตกรรมไปใช้ พัฒนาให้เกิดประโยชน์
มทร.ศรีวิชัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน นำนวัตกรรมไปใช้ พัฒนาให้เกิดประโยชน์
มทร.ศรีวิชัย จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โครงการพัฒนาขีดความสามารถการบริหารจัดการสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยี Smart Farming ชุมชนเกษตรสุขภาพควนลัง ภายใต้ แผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน (Area -based Innovation for Community) ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสุขภาพควนลัง ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
กิจกรรมดังกล่าว ได้รับเกียจติจาก อาจารย์วรสันต์ โสภณ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้
อาจารย์สภาพร ขุนเพชร ผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน ผู้อำนวยการสำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี คุณธนัธิดา แก้วหวังสกูล ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี มากอ้น อาจารย์วิทยาลัยรัตภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย คุณไอลดา นวลศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมเทศบาลเมืองควนลัง และคุณประดับ นวลบุญ เจ้าของแปลงผักเกษตรสุขภาพควนลัง
โดย มทร.ศรีวิชัย ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถการบริหารจัดการสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยี Smart Farming และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโรงเรือนต้นแบบในการควบคุมแปลงเพาะปลูกผักอินทรีย์ ด้วยระบบ IOT ซึ่งระบบ IOT จะสามารถเข้าไปช่วยพัฒนาการเพาะปลูกผักอินทรีย์ของเกษตรกรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นและรองรับกับตลาดผักอินทรีย์ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆและในอนาคตสามารถพัฒนาต่อยอดระบบ IOT ให้มีประสิทธิภาพและขยายผลไปสู่กระเพาะปลูกพืชชนิดอื่นๆต่อไป
วันสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 อธิการบดี มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุเทพ ชูกลิ่น รองอธิการบดี เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ประจำปี 2564 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร เข้าร่วม ณ ห้องโถง อาคารสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้จัดกิจกรรมภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสงขลา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสงขลา เพื่อรับมือสถานการณ์ COVID-19 วันนี้(4 มิถุนายน 2564) รองศาตราจารย์จรูญ เจริญเนตรกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย รองศาตราจารย์ ดร.จารุวัฒน์ เจริญจิต รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ ตู้อบฆ่าเชื้อ สำหรับชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE อุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 1 เครื่อง จากโครงการการพัฒนานวัตกรรมสิ่งสนับสนุนชุมชนและสังคมต่อสู้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 1 เครื่อง และหัตถการทางเดินหายใจสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 10 ชิ้น โดยมี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์อาวุโส นายศราวินทร์ สาครินทร์ และ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คุณพัฒนี แก้วนาวีเป็นผู้รับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้การส่งมอบอุปกรณ์ทางแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลสงขลา จ.สงขลา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษา คัดกรองผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE หน้ากากอนามัยได้นำกลับมาใช้ใหม่ และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย